Tuesday, July 19, 2011

ธรรมเนียมปฏิบัติในครัวของชาวอินเดีย (Formality In the kitchen of the Indians)

ท่านคงได้ยินคำถามเมื่อไปอินเดียตั้งแต่อยู่บนเครื่องบินว่า Are you veg or non-veg?

ธรรมเนียมปฏิบัติในครัวของชาวอินเดีย
(Formality In the kitchen of the Indians)

อินเดียเป็นประเทศที่ประชาชนรับประทานอาหารเจมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะผู้หญิงในชนบทประมาณ 80 % ทานเจ ทั้งนี้ด้วยข้อปฏิบัติของศาสนาฮินดูที่ไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อีกทั้งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันๆ ปี แม้ว่าบางคนจะบอกว่าตนเป็นคนที่ทานเนื้อสัตว์ อย่างมากก็รับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์เดือนละครั้ง หรือปีละ 3-4 ครั้งเท่านั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐานะของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ในชนบท ครอบครัวที่มีบางคนทาน บางคนไม่ทานเนื้อสัตว์ เพื่อไม่ให้มีการปะปนกัน เขาจะปรุงอาหารเนื้อสัตว์ด้านนอกห้องครัว ใช้อิฐมาตั้งเป็นเตา แบ่งแยกอุปกรณ์ใช้ใส่เนื้อสัตว์ต่างหาก สำหรับในเมือง อาจใช้วิธีซื้ออาหารเนื้อสัตว์สำเร็จรูปจากร้าน และใส่ในภาชนะแยกต่างหาก ถ้าเป็นไปได้บางครอบครัวจะแยกห้องครัว แยกอุปกรณ์ และแยกเครื่องปรุงรสต่างหาก แต่ถ้าแยกครัวไม่ได้ จะแยกอุปกรณ์เครื่องใช้

ก่อนเข้าครัว แม่บ้านหรือแม่ครัวต้องอาบน้ำให้สะอาดก่อน อาหารมื้อแรก แม่ครัวต้องกำข้าวสารโปรยที่เตาไฟ (เตาถ่าน เตาฟืน หรือเตาแก๊ส) 1 รอบเพื่อบูชาเทพอัคนี ในวันที่ประกอบพิธีหรือวันที่อดอาหาร ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนทำอาหาร ให้พ่อบ้าน หรือผู้อื่นทำแทน ในอินเดียใต้ ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าห้องครัวทีเดียว ชาวอินเดียไม่ทานอาหารในห้องครัว ถือว่าเป็นบาป

เมื่อปรุงอาหารเสร็จ แม่ครัวจะแบ่งอาหารแต่ละชนิด อย่างละนิดเอาไปให้วัวกินก่อน หากอยู่ในเมืองก็เอาไปให้นก หากไม่มีสัตว์ก็ไม่ต้องทำ เมื่อสมาชิกมานั่งพร้อมเพรียงกัน หัวหน้าครอบครัวเอาอาหารอย่างละนิดๆ ใส่มือ วนหนึ่งรอบเหนือจานพร้อมสวดมนต์ เพื่อขอบคุณเทพเจ้าที่ช่วยให้มีอาหารรับประทาน เสร็จแล้วนำอาหารไปวางบนพื้นดินที่อยู่ด้านขวาของจาน น้ำดื่ม ก็ทำเช่นเดียวกันวนหนึ่งรอบแล้วเทไว้บนอาหารที่วางไว้ที่พื้นแล้ว

หลายๆ ครอบครัวที่ทานเจจะไม่ทานกระเทียมและหัวหอม ชาวอินเดียทานข้าวด้วยมือ

ถั่วเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ นมและขมิ้นรวมถึงผักสีเขียวหลายชนิดเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก ผลไม้แห้ง เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ (นำเข้า) มีธาตุเหล็กมากแต่ราคาแพงเกินไปสำหรับชาวอินเดียโดยทั่วไป และเมื่อสามปีที่ผ่านมาอาหารที่อินเดียมีราคาแพงมากขึ้น ทำให้คนจนขาดธาตุอาหารจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ชาวอินเดียรับประทานอาหารสามมื้อ มื้อเช้าขึ้นอยู่กับแต่ละบ้าน อาหารเช้าไม่หนักมาก อาหารกลางวันรับประทานช่วง 13.00-14.00 น. อาหารเย็น ในเมือง 20.00-21.00 น. ส่วนในชนบทหลังจากที่นำวัวกลับจากการเลี้ยงในท้องทุ่ง หรือเสร็จจากการทำงานแล้วก็ให้วัวกินหญ้า เสร็จแล้วจึงทำอาหารทานเร็วกว่าคือ 18.00-19.00 น.

สรุป ข้อปฏิบัติต่างๆ ข้างต้นใครสามารถปฏิบัติได้ก็ทำไป ใครทำไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน แต่การกระทำต่างๆ เป็นการปฏิบัติโดยนึกถึงผู้อื่น และขอบคุณพระเจ้าไปในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกันเป็นการถ่ายทอดความเชื่อและการปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น คนไทยอาจไม่คุ้นชินกับธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดเช่นนี้ เมื่อไปอยู่กับครอบครัวชาวอินเดีย ที่มีความเคร่งครัดอาจสับสนจนเกิดเป็น cultural shock ทำตัวไม่ถูกเลยทีเดียว แต่หากค่อยๆ เรียนรู้ก็ไม่ยากที่จะปรับตัวได้ในที่สุด


info credit: http://www.gotoknow.org/blog/indianstudies/180586
image credit: http://www.flickr.com/photos/evrensahin/126364343/sizes/z/in/photostream/