Tuesday, June 21, 2011

"พาหุรัด - Phahurat" Bangkok's Little India

"พาหุรัด" Center Point ของชาวอินเดีย

("Phahurat" Bangkok's Little India, Thailand)

ถ้าจุดนัดพบของเด็กวัยรุ่นไทย หรือผู้ใหญ่หัวใจวัยรุ่น คือพื้นที่แห่งสยามสแควร์ฯ ใจกลางกรุงเทพฯ แล้วทำไมชาวอินเดีย ที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จะมีเซ็นเตอร์พอยต์กับเขาบ้างไม่ได้ ซึ่งสถานที่พบปะสังสรรค์ของชาวภารตะที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ ก็คือพื้นที่บริเวณสองข้างทางบนถนนพาหุรัดนั่นเอง และถ้าเราสามารถตั้งนาฬิกาให้ย้อนเวลากลับไปในอดีตได้ ก็คงจะเห็นภาพพ่อค้าชาวอินเดีย ที่เดินทางเข้ามาจับจองพื้นที่บนถนนพาหุรัดเพื่อเริ่มกิจการขายผ้า

ยิ่งนานวัน กิจการขายผ้าก็เริ่มรุดหน้า เจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งพ่อค้าผ้าชาวจีนจากดินแดนสำเพ็งมีความคิดที่จะขยายอาณาเขต เริ่มสร้างตึกต่อเติมอาคารรุกล้ำเข้าไปในเขตพาหุรัด พ่อค้าชาวอินเดียจึงทยอยย้ายครอบครัวหนีออกไปตั้งรกรากที่อื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวัฒนธรรม ศาสนา อาหารการกิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบอินเดียแท้ๆ จะสูญหายหรือเคลื่อนย้ายตามออกไปด้วย เพราะในพาหุรัดยังมีสถานที่รวมใจ และโยงใยสายสัมพันธ์ของความเป็นอินเดียให้คงอยู่ ซึ่งสถานที่นั้นก็คือ ศาสนสถานสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา หรือศูนย์รวมชาวไทยซิกข์แห่งประเทศไทย ที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา โดยวัดซิกข์ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของชุมชนชาวซิกข์ที่อพยพมาจากประเทศอินเดีย ว่ากันว่าชาวซิกข์คนแรกที่เดินทางมายังสยามประเทศ เป็นพ่อค้าขายของนามว่ากิรปาราม มาดาน ประมาณปี พ.ศ. 2428 ได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทยเพื่อจำหน่ายม้าพันธุ์ดี และได้พักอาศัยอยู่ในพระบรมโพธิสมภารของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยความสงบสุขและอบอุ่นใจ

ภายหลังมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายอาชาฝีเท้าดีแด่พระองค์ด้วย ด้วยสำนึกในพระมหา
กรุณาธิคุณ จากนั้นจึงเดินทางกลับรัฐปัญจาปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และชักชวนเพื่อนพ้องให้กลับมายังสยามนครกับท่านอีกครั้ง เพื่อตั้งรกราก ไม่ช้าไม่นานผู้คนชาวซิกข์ก็ทยอยเดินทางตามคำชักชวนเข้ามาเรื่อยๆ ดังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ส่วนเอกลักษณ์เด่นๆ ที่ทำให้รู้ว่าบุคคลผู้นี้คือ ชาวซิกข์ก็คือผ้าโพกศีรษะของสุภาพบุรุษนั่นเอง

มูลเหตุที่ชาวซิกข์ต้องใส่ผ้าโพกศีรษะก็เพราะ ชาวซิกข์จะไม่มีวันตัดหรือโกนผมโดยเด็ดขาดตามหลักการของศาสนา เพราะฉะนั้นจึงต้องขมวดผมใส่ไว้ใต้ผ้าโพก ส่วนสุภาพสตรีก็ยึดถือหลักเดียวกัน โดยทั้งสองเพศจะต้องบำรุงรักษาเส้นผมให้สะอาดสมบูรณ์อยู่เสมอ สิ่งบำรุงผมและหนวดเครา จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหาซื้อมาเก็บไว้ใช้ เช่น สมุนไพรเฮนนา

หลายคนอาจนึกแย้งในใจว่าเฮนนาใช้สำหรับเพนต์ร่างกายต่างหาก แต่เจ้าของร้านชำสไตล์อินเดีย ได้กล่าวยืนยันแล้วว่าเฮนนานี่แหละที่ช่วยบำรุงผมให้ดกดำเงางาม อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสาวแขกตาคมก็คือ สมุนไพรที่ใช้เขียนขอบตา ซึ่งจะบรรจุเป็นแท่งเนื้อครีมสีดำสนิท เวลาเขียนมือต้องนิ่งๆ แต่ถ้าอยากจับง่ายเขียนสะดวกต้องเลือกแบบเป็นดินสอ ซึ่งมีลักษณะเป็นสมุนไพรเนื้อครีมสีดำเช่นกัน ส่วนประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนี้คือช่วยบำรุงขนตาให้ยาวและดำขลับ เรียกว่าได้ทั้งขนตาที่ยาวเป็นแพและดูเซ็กซี่แบบ Smokey Eye ไปในคราวเดียวกัน

ส่วนหนุ่มๆ ที่เผลอจ้องเข้าไปในตาของสาวแขก แล้วเกิดหลงทางอยู่ในนั้นต้องฟังคำเตือนกันสักนิด คือก่อนที่จะชวนสาวเจ้าไปเที่ยวเล่น กรุณาดูแต้มสีแดงตรงหน้าผากก่อน ถ้าสาวคนไหนมีปื้นแดงบริเวณหน้าผากใกล้ๆ กับไรผมยาวเลยขึ้นไปในเส้นผมประมาณ 1-2 นิ้ว นั่นก็แปลว่าผู้หญิงคนนั้นมีคู่แล้ว ส่วนเจ้าติกะ (Tika) ติลก (Tilak) หรือบินดี้ (Bindi) ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดกลมๆ กลางหน้าผาก นั้นเป็นจุดคนละประเภทกับแถบสีแดงบนใบหน้าของหญิงที่แต่งงานแล้ว

โดยทั่วไปติกะจะเป็นสีแดงและแต้มได้ทั้งหญิงและชาย สีแดงที่ใช้มีความหมายเช่นเดียวกับเลือด คือสื่อถึงขุมพลังและจุดกำเนิดของชีวิต ตำแหน่งกลางหน้าผากหรือตาที่ 3 คือแหล่งกำเนิดปัญญา ถือเป็นขุมแห่งสมาธิญาณหยั่งรู้และความรู้ เปรียบเสมือนกำลังหรือปัญญาขององค์พระศิวะ ติกะมีความหมายกึ่งศาสนา ส่วนใหญ่ใช้ในงานมงคล เช่น ชาวอินเดียจะต้อนรับแขกต่างบ้านต่างเมืองด้วยพวงมาลัยและติกะ, พ่อส่งมอบเจ้าสาว, พระทำพิธีทางศาสนา, การอวยพรจากเพื่อน ล้วนใช้เครื่องหมายติกะทั้งสิ้น

พูดถึงเครื่องสำอางแล้ว ก็ต้องพูดถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวอินเดียด้วย ไม่ต้องเสียเวลาคิดนานก็รู้ว่าต้องเป็นส่าหรีแน่ๆ แล้วก็ไม่ต้องใช้เวลาหานานด้วย เพราะเดินไปทางไหนก็จะพบกับร้านขายชุดส่าหรีของสตรี และโธตีของบุรุษเต็มถนนพาหุรัดไปหมด แต่โธตีอาจไม่เด่นเท่าส่าหรีเพราะได้รับอิทธิพลจากการแต่งกายของคนยุโรป เช่น เสื้อเชิ้ต เนกไท ส่วนวิธีใส่ส่าหรีของสตรีอินเดียนั้นก็มีหลายแบบ แต่ใจความหลักคือการใช้ผ้าพลิ้วๆ เนื้อบางเบาผืนเดียวมาพันกาย บางครั้งอาจใช้ผ้าไหมร่วมด้วย

วิธีการพันก็จะแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคของประเทศอินเดีย สตรีทางตอนใต้จะพันส่าหรีลอดขา ส่วนสตรีในกูรก์ (Coorg) จะนุ่งส่าหรีให้ดูเหมือนใส่กระโปรง แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการใช้ผ้าส่าหรียาว 6 เมตรมาพันเป็นจีบรอบลำตัวและพาดไหล่ ที่เรียกกันว่า Nivi Style ซึ่งนับเป็นวิธีพันที่ใครๆ ก็ทำและพบเห็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด ลองสอบถามราคาได้ความมาว่าถ้าจะซื้อส่าหรีแบบเต็มยศ ต้องพกเงินติดตัวไปประมาณพันกว่าบาท

เปลี่ยนจากเรื่องสวยๆ งามๆ มาเป็นเรื่องอาหารการกินบ้างดีกว่า ลองสังเกตดูร้านชำ หรือแผงลอยก็จะเห็นบรรดาเครื่องเทศบรรจุใส่ถุงวางขายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นอบเชย ลูกกระวาน โซฟ และอื่นๆ อีกมากมาย เครื่องเทศ 11 ชนิดอย่างมาซาลา (Masala) ก็มีขาย ถั่วก็เป็นอาหารอีกชนิดที่เห็นวางขายทุกร้าน ไม่ว่าจะเป็นถั่วเลนทิล ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลืองก็มีหมด และที่เห็นว่าพ่อค้าแม่ค้าให้ความสำคัญกับถั่วมากเป็นพิเศษ ก็เพราะกลุ่มชนส่วนใหญ่ที่นี่เป็นชาวซิกข์ซึ่งครองตนเป็นมังสวิรัติ ก็เลยกินถั่วเป็นอาหารหลักทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั่นเอง

แต่ก็ใช่ว่าจะเห็นแต่แขกซิกข์โพกผ้าเท่านั้นที่พาหุรัด เพราะที่นี่ยังเป็นจุดศูนย์รวมของชาวฮินดูด้วย เวลาเดินไปก็จะได้ยินทั้งภาษาปัญจาบี และภาษาฮินดีผสมกันไป ซึ่งชาวซิกข์ส่วนใหญ่ที่พาหุรัดค่อนข้างมีอายุแล้ว แต่ถ้าเป็นแขกฮินดูจะวัยรุ่นกว่าและมักมาเป็นกลุ่มๆ พร้อมกับส่งเสียงเฮฮากันในกลุ่มเพื่อนไปตลอดทาง
ย้อนกลับมาที่เรื่องอาหารกันต่อ เนื่องจากชาวซิกข์ไม่กินเนื้อสัตว์ ร้านอาหารแถบนั้นจึงขายแต่ผักตามไปด้วย แต่ก็มีร้านที่ขายอาหารจานเนื้ออยู่บ้าง คงเพราะจะกันบาบูชาวฮินดูเซ็ง

ขนมหวานแบบอินเดียนั้นชาวซิกข์กินได้ ชาวฮินดูก็กินได้ ส่วนชาวไทยต้องลองชิม เช่น ขนมลัดดูหรือโมทกะ ซึ่งเป็นขนมที่ใช้บูชาพระพิฆเณศ ทำจากแป้งถั่วปั้นกลม ซึ่งก็คือแป้งจะนา ทอดในน้ำมันเนย จากนั้นใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อมแล้วทอดต่อจนสุก หรือลัดดูแบบนึ่งที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าก็มี ซึ่งจะใช้มะพร้าวคลุกน้ำตาลปี๊บกับหญ้าฝรั่นเป็นไส้ ลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่าท่านเป็นเทพองค์เดียวเท่านั้นที่ถือขนม แสดงว่าทรงโปรดลัดดูหรือที่ชาวแขกออกเสียงว่า “หล่าดู๊” เอามากๆ

กุหลาบจามุน (Kulab Jamun) ก็เป็นขนมอีกอย่างที่ไม่ควรพลาด ขนมนี้ทำจากแป้งผสมนม ปั้นกลมๆ ทอดในเนยกี (Ghee) จากนั้นทำน้ำเชื่อมโดยใส่ลูกกระวานและน้ำดอกไม้เทศ พอน้ำเชื่อมอุ่นก็เทใส่กุหลาบจามุนที่ทอดไว้แล้ว เวลากินแนะนำว่าต้องกินคู่กับน้ำชา เพราะขนมชนิดนี้มีรสชาติหวานมาก ต้องค่อยๆ ลองชิมลองกินทีละน้อยๆ ขนมที่สามารถซดน้ำได้แบบอินเดียก็มี เช่น ราสมาลัย (Rasmalai) มีลักษณะเป็นก้อนชีสแช่ในนม ชีสอินเดียหรือปะนีร์ (Panir) จะมีเนื้อแน่นคล้ายกับเต้าหู้ ส่วนนมปรุงรสทำจากนม หรือครีมต้มกับน้ำตาล และผงกระวาน ขนมราสมาลัยนี้ก็ต้องค่อยๆ กินเช่นกัน เพราะถ้ากินมากอาจออกอาการอวบโดยไม่รู้ตัวได้

คราวหน้าถ้าจะนัดสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน คงจะเปลี่ยนบรรยากาศจากสยามฯ มาเป็นพาหุรัดเพื่อหากิจกรรมใหม่ๆ ทำอย่างแน่นอน เพราะจะได้ตัดปัญหาเวลาที่เพื่อนโอดครวญว่าเบื่อร้องคาราโอเกะ ขี้เกียจดูหนัง ไม่มีสตางค์ชอปปิง หรือทำไมต้องนั่งกินข้าวแต่ร้านเดิมๆ ด้วย...อย่างนี้ต้องเจอกันที่เซ็นเตอร์พอยต์พาหุรัด!


info/images credit: http://www.gourmetthai.com
images credit:
http://www.panoramio.com/photo/46153807
http://www.2how.com/board/48281.html
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...